ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจฟิตเนส เซนเตอร์ในปัจจุบัน Fitness Center Management (1/2)

การจัดการศูนย์ฟิตเนส (Fitness Center Management)
หลักการจัดการศูนย์ฟิตเนส 
ตอนที่1 ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศูนย์ฟิตเนส
ธุรกิจศูนย์ฟิตเนส (Fitness Business) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเจริญเติบโตอย่างมากในศตวรรษที่ 20 และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นซึ่งมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ดังเห็นได้จากจำนวนศูนย์ฟิตเนสที่เพิ่มมากขึ้น ศูนย์ฟิตเนสถือว่าเป็นการให้บริการสุขภาพอีกทางเลือกหนึ่งที่ต้องมีการจัดการระบบคุณภาพให้เป็นไปในระบบเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้ศูนย์ฟิตเนสจะต้องอยู่ในการควบคุมในการดำเนินการจากภาครัฐ ประกอบกับประชาชนมีความรู้ในเรื่องการรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายที่มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ศูนย์ฟิตเนสทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพบริการ ให้มีมาตรฐาน พัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการบริหาร ให้มีความสอดคล้องกับ สภาวการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมทั้งในด้าน วิชาการ เทคโนโลยี และการให้บริการ บริหารจัดการต้นทุนภายใต้ทรัพยากร ที่มีอยู่จำกัดทั้งด้าน งบประมาณและบุคลากรโดยให้เป็นไปอย่างสมดุล และมีประสิทธิภาพ

ด้วยกระแสของการดูแลสุขภาพในประเทศไทยยังเป็นที่นิยม ทำให้ได้เห็นตลาดฟิตเนส หรือบริการด้านสุขภาพมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดในช่วงหลายปีมานี้ ซึ่งตลาดฟิตเนสเองก็มีทั้งแบรนด์ใหญ่ระดับโลก และแบรนด์เล็กที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) ในประเทศทำตลาดอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันมีให้เห็นในทุกระดับตลาด แบรนด์ใหญ่เองก็ลงทุนอย่างหนัก เพื่อให้ได้ฐานลูกค้า และยึดทำเลตามห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก เพราะไลฟ์สไตล์คนไทยนิยมเข้าห้างสรรพสินค้าอยู่แล้ว การที่มีฟิตเนสเข้าไปเปิดในทำเลนี้ช่วยสร้างโอกาสได้มากกว่า
ในขณะที่แบรนด์เล็ก แบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) ในไทยก็เปิดฟิตเนสกันแพร่หลายมากขึ้น เป็นฟิตเนสตามชุมชน ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของแต่ละพื้นที่ไป และยังมีเทรนด์การเปิดยิมของเหล่าเซเลบริตี้อยู่ ปัจจัยที่ทำให้ตลาดฟิตเนสยังคงเติบโต เป็นด้วยเทรนด์การออกกำลังกายที่ยังคงมาแรงอยู่ วัยรุ่น และผู้มีชื่อเสียงหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ทำให้ตลาดตรงนี้ยังมีโอกาสอีกมาก
ประกอบกับข้อมูลการออกกำลังกายของประชากรคนไทยนั้นยังมีอัตราที่น้อยมากมีแค่ยังไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเมื่อเทียบกับต่างประเทศก็ถือว่าน้อยมาก ประเทศสิงคโปร์มีอัตราคนออกกำลังกาย 7% ออสเตรเลีย 15% อังกฤษ 20% และสหรัฐอเมริกา 25%

ขนาดและมูลค่าของตลาดฟิตเนสประเทศไทย 
ข้อมูลงบกำไรขาดทุนจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า รายได้รวมของหมวดธุรกิจการดำเนินงานของสถานที่ออกกำลังกายในปี 2559 มีทั้งหมด 3,572 ล้านบาท ผ่านบริษัทที่ยื่นงบการเงินมาให้ 127 ราย และตัวอุตสาหกรรมนี้มีกำไรสุทธิรวมกันทั้งหมดถึง 512 ล้านบาท สูงกว่าปี 2558 ที่ภาพรวมอุตสาหกรรมขาดทุนสุทธิ 91 ล้านบาท
แม้จะมีกำไรที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบจำนวนผู้ยื่นงบการเงินนั้นจะพบว่าปี 2558 มีบริษัทยื่นงบถึง 335 ราย จนอุตสาหกรรมนี้มีรายได้รวมกันกว่า 4,400 ล้านบาท ดังนั้นจากจำนวนผู้ยื่นงบที่ลดลงแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้ที่ดุเดือด และคงไม่แปลกถ้า True Fitness จะปิดกิจการ เพราะรายได้ลดทุกปี แถมปี 2558 ก็ขาดทุนถึง 49 ล้านบาท
โดยถ้ามองเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หรือมีสินทรัพย์ถาวร เช่นเครื่องออกกำลังกายแบบต่างๆ รวมมูลค่าสูงกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป ในปี 2559 มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ยื่นงบการเงิน จากปี 2558 ที่มีถึง 5 บริษัท แต่เพียงแค่ 2 บริษัทก็มีรายได้รวมกันกว่า 3,297 ล้านบาท หรือกว่า 90% ของอุตสาหกรรมนี้แล้ว
รายใหญ่ล้ม สบช่องรายเล็กแย่งตลาด

ในทางกลับกัน เมื่อรายใหญ่เริ่มน้อยลง แต่กระแสรักสุขภาพยังคงเติบโตในประเทศไทย ทำให้เกิดฟิตเนสทางเลือกขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อรับช่วงต่อจากรายใหญ่ที่ทำธุรกิจไม่ไหว หรือกลุ่มผู้ใช้ที่เบื่อการออกกำลังกายด้วยเครื่องต่างๆ โดยในปี 2558 มีกลุ่มสถานที่ออกกำลังกายขนาดเล็ก หรือมีสินทรัพย์ถาวรไม่ถึง 50 ล้านบาท ส่งงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าถึง 324 ราย
ทำให้ภารวมอุตสาหกรรมสถานที่ออกกำลังกายในตอนนี้หากนับเป็นจำนวนก็จะเดินหน้าโดยธุรกิจรายเล็ก แต่ถ้ามองเรื่องมูลค่า เกือบทั้งหมดจะอยู่กับธุรกิจรายใหญ่ ส่วนขนาดกลาง หรือมีสินทรัพย์ถาวรระหว่าง 50-200 ล้านบาทนั้นแทบไม่มี อาจเพราะบริหารงานลำบาก และถ้าใหญ่ไปก็ไม่มีเงินลงทุน หรือเล็กไปก็คล่องตัวสู้รายย่อยไม่ได้
เมื่อตรวจสอบธุรกิจสถานออกกำลังกายที่มีรายได้หลักร้อยล้านบาทใกล้เคียง True Fitness ประกอบด้วย

1.บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Fitness First มีรายได้ปี 2559 ที่ 2,718 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.96% และมีกำไร 451 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.74% หากนับตั้งแต่ปี 2555 ตัวธุรกิจก็มีการเติบโตตลอด
2.บริษัท เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Virgin Active มีรายได้ปี 2559 ที่ 476 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80.25% และขาดทุน 156 ล้านบาท หากนับตั้งแต่ปี 2556 ที่ก่อตั้งธุรกิจมีการขาดทุนหลักร้อยล้านบาทตลอด

3.บริษัท วี ฟิตเนส จำกัด หรือ We Fitness มีรายได้ปี 2559 ที่ 365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% และขาดทุน 6 ล้านบาท หากนับตั้งแต่ปี 2556 มีการขาดทุน 26-74 ล้านบาทในแต่ละปี
เรียกว่าฟิตเนสรายใหญ่ส่วนใหญ่มีผลประกอบการขาดทุน (ยกเว้นฟิตเนส เฟิรส์ท) 

สรุป 
เมื่อเจอกับภาพรวมตลาดที่แทบจะไม่เติบโต แสดงให้เห็นถึงโอกาสในตลาดฟิตเนสนั้นแทบไม่มี และรายใหม่ที่เข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการลงทุนทั้งสถานที่ และอุปกรณ์ก็ค่อนข้างสูง รวมถึงค่าสมาชิกจะแพงก็ไม่ได้ ดังนั้นการจะแข่งขันนี้ก็คงเป็นเพียงข้อแตกต่างในเรื่องคอร์สการฝึก หรือไม่ก็เทรนเนอร์ที่เก่ง ไม่เช่นนั้นก็คงอยู่ในตลาดได้ไม่นานแน่นอน

แหล่งอ้างอิง
1. เช็คชีพจรธุรกิจฟิตเนสไทย อันไหนเสี่ยงหากอยากสมัครสมาชิก และโอกาสของกลุ่มฟิตเนสทางเลือก (2017) https://brandinside.asia/fitness-market-and-opportunities/
2. ฉลิมพล จินดาเรือง (2555). ต้นแบบการจัดการคุณภาพศูนย์ฟิตเนสของมหาวิทยาลัยราชภัฏในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการกีฬาและการบันเทิง วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
https://www.spu.ac.th/graduate/files/2012/07/CHALERMPOL-JINDARUENG.pdf


ผู้เขียน: ศุภนิธิ ขำพรหมราช(อ.ป๊อป) อาจารย์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และผู้ก่อตั้ง POP Fitness Studio

ความคิดเห็น