สภาวะน้ำหนักเกินกับโรคอ้วน แตกต่างกันหรือไม่??

สภาวะน้ำหนักเกินกับโรคอ้วน แตกต่างกันหรือไม่??


หลายคนคงจะสงสัยว่าเราคัดกรองผู้มีภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนกันอย่างไร ความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆเหมือนกันหรือไม่ วิธีการดูแล เช่น การออกกำลังกาย โภชนาการมีความแตกต่างอย่างไร บทความนี้เราจะมาเรียนรู้กัน
องค์การอนามัยโลก (WHO, 2016) ให้นิยามว่าภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน หมายถึงภาวะที่ร่างกายมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเนื่องจากมีการสะสมไขมันในร่างกายมากกว่าปกติ ทำให้เป็นปัจจัยที่อาจจะเกิดโรคต่างๆที่ทำให้มีสุขภาพแย่ลงจนอาจจะเสียชีวิตได้

โดยความแตกต่างภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนองค์การอนามัยโลกได้แบ่งคือ
1.เมื่อมีดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) ตั้งแต่ 25 กก/ม² ขึ้นไป เรียกว่าน้ำหนักตัวเกิน
2.แต่ถ้ามีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กก/ม²ขึ้นไป เรียกว่าเป็นโรคอ้วน
ผู้มีภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน มีสาเหตุ วิธีการดูแลรักษาและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆเหมือนกัน แตกต่างที่ผู้มีภาวะน้ำหนักเกินจะเสี่ยงน้อยกว่าผู้เป็นโรคอ้วน
ปัจจัยทำให้เกิดโรคอ้วนกองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2556) ได้อธิบายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ดังนี้
อายุ อายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีการเผาผลาญพลังงานช้าลงและร่างกายของคนเราไม่ต้องการพลังงานอาหารมากเหมือนตอนอายุน้อย 
พันธุกรรม พันธุกรรมเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน ถ้าพ่อแม่อ้วน โอกาสที่ลูกจะเกิดมาอ้วนก็มีสิทธิสูง
เพศ เพศชายและหญิงมีความแตกต่างกันทางด้านองค์ประกอบของร่างกาย เช่นมวลกล้ามเนื้อ มวลไขมันในร่างกาย และโครงสร้างร่างกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการเผาผลาญพลังงานและโดยมากเพศหญิงมักอ้วนกว่าเพศชาย
การบริโภคอาหาร การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ นอกจากไม่เป็นประโยชน์แล้วยังสามารถทำให้อ้วนได้ ชีวิตในปัจจุบันที่เร่งรีบ ประชาชนมักนิยมรับประทานอาหารจานด่วนและขนมที่ล้วนไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญและช่วยให้การเผาผลาญพลังงานมีความสมดุล แต่ปัจจุบันคนเรามีการออกกำลังกายน้อยลงมากเนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน
สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกกำลังกาย ส่งผลให้มีการออกกำลังกายน้อยลง เช่น ไม่มีสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับออกกำลังกาย สภาพอากาศไม่เหมาะสม
การเจ็บป่วย การเจ็บป่วยบางโรคทำให้เป็นโรคอ้วนได้ เช่นโรค Hypothyroidism ทำให้การเผาผลาญพลังงานช้าลง หรือเกิดภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
ยารักษาโรค ยาบางชนิดที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
อารมณ์และจิตใจ อารมณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือาการเศร้า อาจเป็นผลทำให้รับประทานอาหารมากขึ้นและส่งผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามมา
วิธีการการคัดกรองผู้มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
ดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI
คือค่าความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักตัวกับส่วนสูง ซึ่งนิยมใช้เป็นตัววินิจฉัยว่า ผู้ใดน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยหน่วยของน้ำหนักคิดเป็นกิโลกรัมและหน่วยของความสูงคิดเป็นเมตร ซึ่งค่าดัชนีมวลกายของแต่ละคน หาได้จาก น้ำหนักของคนนั้น(กิโลกรัม) หารด้วยความสูง(เมตร)ยกกำลังสอง ดังนั้นหน่วยของดัชนีมวลกายจึงเป็น กิโลกรัม/เมตร² ซึ่งค่าดัชนีมวลกายของคนตามนิยามขององค์การอนามัยโลกมีดังนี้
อย่างไรก็ตามนิยามภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ในคนเอเชีย ควรแตกต่างจากที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เพราะคนเอเชียมีรูปร่างเล็กกว่าคนอเมริกัน,ยุโรป และแอฟริกันโดยกำหนดให้ดัชนีมวลกายของชาวเอเชีย มีค่าดังนี้
แหล่งอ้างอิง
1.องค์การอนามัยโลก (WHO, 2016) Obesity and overweight. 
2. กัลยา กิจบุญชู(2546). ข้อแนะนำการออกกำลังกายสำหรับคนอ้วน.กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
3.โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน http://haamor.com/th

ผู้เขียน: ศุภนิธิ ขำพรหมราช(อ.ป๊อป) อาจารย์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และผู้ก่อตั้ง POP Fitness Studio


ความคิดเห็น