สมรรถภาพทางกายคืออะไร

ความหมายของสมรรถภาพทางกาย 

สมรรถภาพทางกายเป็นความสามารถของร่างกายในการประกอบภารกิจประจำวันได้อย่างกระฉับกระเฉง มีประสิทธิภาพโดยไม่เกิดความเหนื่อย ฟื้นฟูกลับสภาพได้อย่างรวดเร็ว สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างราบรื่น ปราศจากโรคที่ขาดจากการออกกำลังกาย(ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์ และกุลธิดา เชิงฉลาด,2544) 




องค์ประกอบของสมรรถภาพทางกาย
สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ (Health – Related Physical Fitness)
ความสามารถของระบบต่างๆ ในร่างกายประกอบด้วยความสามารถเชิงสรีรวิทยาด้านต่างๆ ที่ช่วยป้องกันบุคคลจากโรคที่มีสาเหตุจากสภาวะการขาดการออกกำลังกาย  นับเป็นปัจจัยหรือตัวบ่งชี้สำคัญของการมีสุขภาพดี ความสามารถหรือสมรรถนะเหล่านี้ สามารถปรับปรุงพัฒนาและคงสภาพได้ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพมีองค์ประกอบ ดังนี้
1.องค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition) คือองค์ประกอบต่างในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย กล้ามเนื้อ กระดูก ไขมัน และ ส่วนอื่นๆ โดยควรมีองค์ประกอบที่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถวัดได้เช่น ค่าดัชนีมวลกาย ค่าเปอร์เซ็นต์ไขมัน ค่าสัดส่วนเอวต่อสะโพก
การวัดเปอร์เซ็นต์ไขมันด้วย Skinfold Calipper
2.ความทนทานของระบบไหลเวียนเลือด(Cardiorespiratory Endurance) หมายถึง สมรรถนะเชิงปฏิบัติของระบบไหลเวียนเลือด (หัวใจ หลอดเลือดและระบบหายใจในการลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายสามารถยืนหยัดที่จะทำงานหรือออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นระยะเวลายาวนานได้
การทดสอบระบบหายใจไหลเวียนเลือดโดยการทำStep test 3 นาที
การฝึกระบบหายใจและไหลเวียนเลือดโดยการวิ่ง
3.ความอ่อนตัวหรือความยืดหยุ่น (Flexibility) หมายถึงพิสัยของการเคลื่อนไหวสูงสุดเท่าที่จะทำได้ของข้อต่อหรือกลุ่มข้อต่อ
การทดสอบความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อด้วยวิธี sit and reach test
การฝึกความอ่อนตัวด้วยโยคะ
4.ความทนทานของกล้ามเนื้อ (Muscular Endurance)หมายถึง ความสามารถของกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือกลุ่มกล้ามเนื้อ ในการหดตัวซ้ำๆ เพื่อต้านแรงหรือความสามารถในการหดตัวครั้งเดียวได้เป็นระยะเวลายาวนาน
การทดสอบความทนทานของกล้ามเนื้อโดยการนอนลุกนั่ง 60  วินาที
การฝึกความทนทานของกล้ามเนื้อโดยการดันพื้น
5.ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscular Strength) หมายถึงปริมาณสูงสุดของแรงที่กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือกลุ่มกล้ามเนื้อสามารถออกแรงต้านทานได้ ในช่วงการหดตัว 1 ครั้ง
การทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้เครื่องแรงบีบมือ
การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย Barbell
สมรรถภาพทางกลไก (Motor Fitness) หรือสมรรถภาพเชิงทักษะ (Skill – Related Physical Fitness)
ความสามารถของร่างกายที่ช่วยให้บุคคลสามารถประกอบกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นกีฬาได้ดีมีองค์ประกอบ 6 ด้าน ดังนี้
1.ความคล่องแคล่วว่องไว (Agility) หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและสามารถควบคุมได้
การทดสอบความคล่องแคล่วว่องไวโดยการวิ่งเก็บของ
การฝึกความคล่องแคล่วว่องไวโดยหลบหลีกกรวย
2.การทรงตัว (Balance)  หมายถึง ความสามารถในการรักษาดุลของร่างกายเอาไว้ได้ทั้งในขณะอยู่กับที่และเคลื่อนที่
การฝึกการทรงตัวด้วยท่าโยคะ
3.การประสานสัมพันธ์ (Co-ordination) หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น กลมกลืน และ มีประสิทธิภาพของร่างกาย
การฝึก Co-ordination การทำงานประสานสอดคล้องระหว่างตาและมือ

ผลการฝึก eye hand coordination จากเครื่อง SVT
4.พลังกล้ามเนื้อ (Power) หมายถึง ความสามารถของกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหลายๆ ส่วนของร่างกายในการหดตัวเพื่อทำงานด้วยความเร็วสูง แรงหรืองานที่ได้เป็นผลรวมของความแข็งแรงและความเร็วที่ใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่นการยืนอยู่กับที่ กระโดดไกล การทุ่มน้ำหนัก เป็นต้น
การทดสอบพลังกล้ามเนื้อโดยการกระโดด
การฝึกพลังกล้ามเนื้อโดยการกระโดด
5.เวลาปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction time) หมายถึงระยะเวลาที่ร่างกายใช้ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่นแสง เสียง สัมผัส
ฝึกปฏิกิริยาตอบสนองโดยส่งฟุตบอลกลับคืนเมื่อไดยินเสียงนกหวีด
6.ความเร็ว (Speed) หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว
การฝึกวิ่งเร็ว
การทดสอบและประเมินผลสมรรถภาพทางกาย
จุดมุ่งหมายของการทดสอบสมรรถภาพทางกาย มีดังนี้
ผลการทดสอบนักกีฬาฟุตบอล

ผลการเปลี่ยนแปลงร่างกายของผู้ออกกำลังกาย
        1. เพื่อที่จะศึกษาวิธีการฝึกซ้อมหรือออกกำลังกายเพื่อสุขภาพว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่
2. เพื่อหาทางปรับปรุงข้อบกพร่องทางด้านสมรรถภาพทางกาย ที่อาจพบได้จากการทดสอบ
3. เพื่อหาทางส่งเสริมการฝึกซ้อม ให้พัฒนาถึงจุดสูงสุดของแต่ละคน
4. เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาข้อแตกต่างทางด้านสมรรถภาพทางกาย
       5. เพื่อใช้ในการปรับปรุงสมรรถภาพทางกายโดยรวมของนักกีฬาให้ถึงจุดสูงสุดและเหมาะสมกับกีฬาแต่ละชนิด
อ้างอิง:
1.ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์ และกุลธิดา เชิงฉลาด (2544). ปทานุกรมศัพท์กีฬาพลศึกษาและวิทยาศาสตร์การกีฬา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.สุพิตร สมาหิโตและคณะ (2556) แบบทดสอบและเกณฑ์มาตรฐานสมรรถภาพทางกายสำหรับประชาชนไทยอายุ 19-59ปี.สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ผู้เขียน: 

            ผู้เขียน: ศุภนิธิ ขำพรหมราช(อ.ป๊อป) อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และผู้ก่อตั้ง POP Fitness Studio

ความคิดเห็น